การอบรมลูกด้วยการไม่ตีที่นิยมกันในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ วิธีแรก Time in ซึ่งเป็นการใช้เวลาร่วมกันเพื่อที่พ่อแม่จะได้ชี้นำและขัดเกลาลูก กับวิธีที่ 2 คือ Time out ซึ่งเป็นวิธีที่เราจะนำเสนอในวันนี้
การทำ Time out คือการยับยั้งพฤติกรรมไม่ดีของลูกด้วยการให้ลูกแยกออกไปอยู่คนเดียว เพื่อสงบสติอารมณ์ ใคร่ครวญถึงเหตุผล และสำนึกผิด วิธีนี้จึงเหมาะกับเด็กที่มาอายุมากกว่า 5 ปี เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนเหตุผลพัฒนาขึ้นมาแล้ว เด็กจะเริ่มมีความสามารถในการเข้าใจเหตุผลและใช้เหตุผลควบคุมพฤติกรรมได้ในวัยนี้
1. การแยกไปอยู่ในห้องคนเดียว เป็นการนำลูกไปไว้ในห้องแล้วปิดประตู โดยพ่อหรือแม่จะต้องยืนจับประตูอยู่ตลอดเวลา คุณอาจพูดกับลูกให้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวด้วยก็ได้ ประโยคที่ใช้พูดกับลูกระหว่างนี้ เช่น ถ้าลูกสงบสติอารมณ์แล้วก็จะออกมาได้นะจ๊ะ หรือถ้าหนูตกลงว่าจะเก็บจานที่ปัดแตกแล้วก็ออกมาได้นะจ๊ะ
หากคุณพ่อหรือคุณแม่เดินหนีไปจากหน้าประตู เด็กอาจเข้าใจว่าตัวเองถูกทิ้ง ทำให้กลายเป็นคนที่กลัวการถูกทิ้ง ในอนาคตเขาอาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ยอมให้คู่รักเอาเปรียบหรือทำร้ายตนเอง แค่เพราะกลัวว่าจะถูกทิ้งก็เป็นได้
เนื่องจากวิธีนี้ทำให้เด็กเสียใจมากจึงควรใช้วิธีนี้เมื่อเด็กร้องไห้งอแงมากๆ และไม่ยอมรับฟังเหตุผลเท่านั้น
2. การนั่งเก้าอี้สำนึกผิด เป็นการให้ลูกนั่งเก้าอี้ในมุมหนึ่งของห้อง แต่พ่อหรือแม่ยังอยู่ในห้องเดียวกัน ก่อนการนั่งเก้าอี้คุณควรบอกให้ลูกคิดทบทวนถึงการกระทำของตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้จักใช้เหตุผล เข้าใจในความผิดและสำนึกผิดได้ ที่สำคัญวิธีนี้ทำให้เด็กเสียใจน้อยกว่าวิธีแรก
3. การนั่งในวงกลมปรับพฤติกรรม วิธีนี้คือการขีดเส้นเป็นวงกลมและให้ลูกอยู่แต่ในวงกลมปรับพฤติกรรม โดยลูกของคุณยังสามารถมองเห็นคนในครอบครัวทำสิ่งต่างๆ ตามปกติได้
การทำ Time out ควรใช้เวลา 1 นาทีต่ออายุลูก 1 ขวบ เช่น ลูกของคุณมีอายุ 5 ขวบ ก็ให้ทำเพียง 5 นาที ไม่อย่างนั้นเด็กจะชาชิน อาจซุกซ่อนตัวเองในความคิด หรือเพิกเฉยต่อการลงโทษได้
การทำ Time out ทำให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้ด้วยตนเอง และเป็นวิธีที่ยับยั้งพฤติกรรมแบบชั่วคราวที่ได้ผลเร็ว แต่มันทำให้ความคับข้องใจของลูกยังคงซ่อนอยู่ลึกๆ และจะแสดงออกมาในทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้น ดังนั้นหลังจากการทำ Time out คุณจะต้องคุยกับลูกโดยการชี้แจงเหตุผลหรือช่วยลูกจัดการอารมณ์ที่คับข้องหรือค้างคาในใจเขา
การลงโทษที่ดีคือการทำให้เด็กเข้าใจในความผิดและสำนึกผิด Time out ที่ถูกต้อง จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีอบรมสั่งสอนที่ได้ผลค่อนข้างดีทีเดียว